fbpx

เครื่องวัดอุณหภูมิ สำหรับอบขนมหรือทำอาหารจำเป็นไหม เลือกยังไงให้ไม่งง

เครื่องวัดอุณหภูมิ อินฟราเรด

เครื่องวัดอุณหภูมิ สำหรับพ่อครัวแม่ครัวหรือนักอบขนมมือใหม่จำเป็นต้องมีหรือไม่

แล้วเทอร์โมมิเตอร์ชนิดไหนเหมาะสำหรับอบขนม ชนิดไหนเหมาะสำหรับทำอาหาร ไปหาคำตอบกัน

เราสามารถกะอุณหภูมิได้ด้วยตาจริงหรือ?

พ่อครัวแม่ครัวมือใหม่หลายท่านกังวลเกี่ยวกับเรื่องอุณหภูมิที่มีผลต่อการประกอบอาหาร การทำขนม การชงเครื่องดื่ม หรือแม้กระทั่งการจัดเก็บวัตถุดิบให้เหมาะสม ทีนี้ ‘ เครื่องวัดอุณหภูมิ ’ จำเป็นหรือไม่ คำตอบมีสองแบบ เมนูบางประเภทอาจจะไม่ถึงขั้นต้องมีเครื่องวัดอุณหภูมิขนาดนั้นเพราะกะด้วยตาและประสบการณ์ก็ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆถ้าคุณ ‘ทอดไข่เจียว’ แบบบ้านๆ หากจะให้ ไข่เจียวกรอบ ฟู สวย อุณหภูมิน้ำมันต้องร้อนพอเหมาะ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่า คุณกะความร้อนของน้ำมันได้ดีขนาดไหน เพราะถ้าหากไม่คุมอุณหภูมิให้ดีแม้เมนูออกมาไม่พังแต่ก็มีแนวโน้มว่าไม่ดีอย่างที่ควรเป็น เช่น น้ำมันไม่ร้อนจะส่งผลให้ไข่เจียวอมน้ำมัน ถ้าน้ำมันร้อนเกินไปไข่เจียวก็จะเกรียม ( คงไม่มีใครใช้เครื่องวัดอุณหภูมิในเมนูไข่เจียวแบบบ้านๆใช่ไหมคะ ถ้าไม่ทำเป็นอุตสาหกรรมข้าวไข่เจียวแบบเป็นล่ำเป็นสัน ) หากคุณรู้จักอุปกรณ์ประกอบอาหารของคุณแบบลึกซึ้ง หรือคุณผ่านประสบการณ์การทำเมนูดังกล่าวมาอย่างโชกโชน ก็เป็นไปได้ที่คุณจะ ‘มือนิ่ง’ หมายถึงกะด้วยตาก็ออกมาเป๊ะได้

เครืองวัดอุณหภูมิ เตาอบ

เรื่องของ ‘อุณหภูมิ’ ที่มือใหม่มักพลาด

แต่ทีนี้พ่อครัวแม่ครัวมือใหม่อยากแอดวานซด์มากขึ้น เมนูอย่าง ‘เค้กมูสช็อคโกแลต’ ที่คุณต้องวัดอุณหภูมิออกมาให้เป๊ะ คราวนี้การกะด้วยตาขอบอกเลยว่า ‘ยาก’ เชฟเก่งๆหลายคนยังไม่เสี่ยง เพราะตัวมูสอาจจะคายน้ำออกมาจนเละไม่เป็นท่า

ตัวอย่าง เค้กมูสช็อคโกแลต มือใหม่บางท่านอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว เพราะยังเพิ่งเริ่มอบอะไรง่ายๆอยู่เลย…ผู้เขียนขอเล่าอย่างนี้  มีสาวน้อยท่านหนึ่งไปเรียนวิธีการทำเค้กมะพร้าวซึ่งพื้นฐานเป็นชิฟฟ่อนเค้ก ตอนเรียนเธอภูมิใจกับผลงานมากเพราะเค้กออกมาดูดี รสชาติเยี่ยม เธอจึงไปถอยเตาอบ อุปกรณ์ครบเซต พร้อมใช้วัตถุดิบตามที่เรียนเป๊ะ

เธอปรับหน้าเตาไปที่ 180 °C กะเวลาวอร์มเตาให้ร้อนดีแล้วจึงเอาขนมเข้าอบจนครบเวลา ปรากฏออกมาหน้าขนมแตกแต่ข้างในยังไม่สุกดี เธอจึงสงสัยว่าขั้นตอนเหมือนกันแต่ทำไมขนมถึงไม่เป็นตามที่เรียนมา

ซึ่งจากการสอบถามกูรู จึงได้รู้ว่า ‘เธอไว้ใจเทอร์โมมิเตอร์หน้าเตามากเกินไป’ วันต่อมาเธอจึงลองซื้อเทอร์โมมิเตอร์แบบตั้งโต๊ะใส่เข้าไปในเตา แล้วอบขนมดูอีกรอบ

เริ่มจากการปรับอุณหภูมิหน้าเตาที่ 180 °C จากนั้นก็วอร์มเตาให้ร้อนจึงพบว่าอุณหภูมิเตาพุ่งสูงขึ้น เป็น 200 °C และยิ่งทิ้งไว้นานขึ้นอีกอุณหภูมิเตาก็พุ่งสูงไปเป็น 220 °C เมื่อเธอเปิดเตาเอาขนมเข้าไปก็พบว่าไฟตกกลับมาเป็น 200 °C เหมือนเดิม นั่นแสดงให้เห็นว่า ‘เทอร์โมเตอร์หน้าเตาอบ’ ไม่ได้ตรงเป๊ะกับอุณหภูมิภายในเตาเสมอไป

พอจะเห็นภาพหรือยังว่า ‘เครื่องวัดอุณหภูมิ’ สำคัญอย่างไรกับพ่อครัวแม่ครัวมือใหม่อย่างเรา แล้วทีนี้ก็มีคำถามต่อว่าเครื่องวัดอุณหภูมิแบบไหนล่ะ ถึงเหมาะสมกับเมนูที่เราอยากทำ เพราะมีให้เลือกซื้อหลากหลายเหลือเกิน แอดมินเลยเอาเกร็ดความรู้เรื่องเครื่องวัดอุณหภูมิกับงานครัวแต่ละประเภทมาฝาก จะได้เข้าใจ ไม่ยืนงงในดงเทอร์โมมิเตอร์

เครื่องวัดอุณหภูมิ มีกี่แบบ แบบไหนที่ควรมี

1.Oven Thermometer – เทอร์โมมิเตอร์ สำหรับวางไว้ในเตาอบ

เครื่องวัดอุณหภูมิ เตาอบ

เครื่องวัดอุณหภูมิชนิดนี้ ใช้สำหรับตั้งไว้ในเตาอบเพื่อคุมอุณหภูมิอย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่หน้าปัดจะบอกอุณหภูมิเป็นองศาเซลเซียส ( °C ) และองศาฟาเรนไฮต์ ( °F ) จุดเริ่มต้นสเกลจะวัดที่อุณหภูมิ 100 °C บางยี่ห้อเริ่มที่ 150 °C เป็นต้นไป เครื่องวัดอุณหภูมิชนิดนี้สำคัญมากๆกับทุกเมนูที่ใช้เตาอบ แม้ว่าเตาอบของคุณจะบอกอุณหภูมิที่หน้าเตาอยู่แล้วก็ตาม

พูดถึงเตาอบสำหรับอุตสาหกรรมหลายยี่ห้อแม้ว่าจะมีอุณหภูมิที่เสถียรและมีระบบการควบคุมอุณหภูมิภายในที่สามารถตัดไฟเมื่ออุณหภูมิถึงตามที่เรากำหนดไว้หน้าเตา แต่ก็ยังมีช่วงที่อุณหภูมิสวิงขึ้นลงบ้างเพราะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวเช่น อุณหภูมิของแบทเทอร์ก่อนเข้าอบ ปริมาณของแบทเทอร์ การเปิดประตูเตาเพื่อเอาขนมเข้าอบก็ทำให้อุณหภูมิในเตาเหวี่ยงขึ้นลงได้ชั่วขณะได้

อย่างประสบการณ์ ผู้เขียนใช้เตาอบไฟฟ้ายี่ห้อดัง ความจุ 60 ลิตร ( ผู้เขียนค่อนข้างรู้ใจเตาดี ภาษาชาวเบเกอรี่จะเรียกอาการเข้าใจอุณหภูมิเตาตัวเองว่า ‘รู้ใจเตา’ ) เมื่อตั้งอุณหภูมิหน้าเตาที่ 150 °C พร้อมกับวาง เครื่องวัดอุณหภูมิ อีกตัวไว้ในเตาอบ ผู้เขียนจะวอร์มเตาไปจนอุณหภูมิเทอร์โมมิเตอร์ภายในถึง 160 °C และเมื่อนำเนื้อขนมเข้าอบ อุณหภูมิจะตกมาที่ 150 °C พอดี หากไม่มีเครื่องวัดอุณหภูมิสำหรับวางไว้ในเตาอบ ผู้เขียนจะไม่มีทางรู้เลยว่าวอร์มเตาจนได้ที่หรือไม่ หรือนำขนมเข้าอบแล้วความร้อนตกลงมาเท่าไหร่

ดังนั้น เครื่องวัดอุณหภูมิสำหรับตั้งไว้ในเตาอบจึงสำคัญมากๆ เพราะขนมหรืออาหารบางชนิดมีการปรับอุณหภูมิไปมามากกว่าหนึ่งครั้ง และนักอบขนมบางคนใช้เครื่องวัดอุณหภูมิวางไว้มากกว่าหนึ่งตัวทีเดียว

Tips :

  • เป็นเรื่องปกติ ที่เตาอบหลายยี่ห้อ อุณหภูมิภายในขณะอบอาจจะคลาดเคลื่อนกับเทอร์โมมิเตอร์หน้าเตา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเสถียรของอุณหภูมิ ปริมาณขนม และชนิดขนมที่ใช้ เป็นต้น
  • สำหรับเตาอบไฟฟ้า ชั้นที่เราใช้วางเนื้อแบทเทอร์ก็มีผลต่อความคลาดเคลื่อนของอุณหภูมิเช่นกัน หากวางเนื้อขนมชั้นบนสุดจะใกล้ขดลวดไฟฟ้าข้างบน ก็มีผลทำให้อุณหภูมิบริเวณดังกล่าว สูงกว่าการวางเนื้อขนมที่ชั้นกลาง เป็นต้น ดังนั้นอบขนมที่ชั้นใด ก็ควรวางเครื่องวัดอุณหภูมิให้ใกล้ชิดบริเวณขนมชั้นนั้นมากที่สุด
  • นักอบขนมมือใหม่ควรดูสเกลอุณหภูมิดีๆ ว่าเป็นองศาเซลเซียส หรือฟาเรนไฮต์ สูตรขนมของฝรั่งหลายสูตรอาจจะมีการใช้องศาฟาเรนไฮต์ ต้องชัดเจนในเรื่องนี้
เครื่องวัดอุณหภูมิ แบบดิจิตอล
เครื่องวัดอุณหภูมิ ดิจิตอล

2.Digital Cooking Thermometer – เครื่องวัดอุณหภูมิ แบบดิจิทัล

เครื่องวัดอุณหภูมิชนิดนี้มีลักษณะปลายเป็นแท่งโลหะไว้ใช้สัมผัสกับอาหารที่เราต้องการวัดอุณหภูมิ บริเวณส่วนหัวจะมีสเกลบอกเป็นองศาเซลเซียส และองศาฟาเรนไฮต์เช่นกัน วิธีใช้คือจิ้มปลายเข็มลงไปบนเนื้อจะสามารถอ่านค่าได้ภายใน 10 วินาที มักใช้คู่กับเทคนิคการทำขนมหรืออาหารที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิให้แม่นยำแต่อุณหภูมิไม่สูงมาก เช่นการเทมเพอร์ช็อคโกแลตที่อุณหภูมิต่างกันเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลต่อความเงา และเนื้อสัมผัสของช็อคโกแลตได้ หรืออย่างเทคนิค ‘กงฟี’ ที่เป็นการตุ๋นด้วยน้ำมันอุณหภูมิอ่อนๆและต้องคุมอุณหภูมิอยู่ตลอดเวลา เมนูมาการองที่ใช้เทคนิคอิตาเลียนเมอแรงก์ต้องคุมอุณหภูมิน้ำเชื่อม หรืออย่างการย่างสเต็กที่ใช้อุณหภูมิในการย่างต่างกันก็ส่งผลให้สเต็กออกมาต่างกัน เครื่องวัดอุณหภูมิชนิดนี้จึงไว้เช็คความสุกในการย่างสเต็กในระดับต่างๆ เป็นต้น

Tips :

– วิธีการวัดอุณหภูมิ ให้ปลายเข็มสัมผัสโดนเนื้อขนมหรืออาหารโดยตรง อย่าเผลอสัมผัสไปโดนภาชนะ เพราะจะทำให้อุณหภูมิคลาดเคลื่อน

ตัวอย่างวิธีการทำ มาการองราสป์เบอร์รี่โดยใช้เทคทิค ‘Italian Meringue’ ที่ต้องอาศัยการควบคุมอุณหภูมิขณะตีน้ำตาลอย่างใกล้ชิด

3.Candy Thermometer และ Fat Thermometer – เทอร์โมมิเตอร์ สำหรับงานน้ำตาล

เครื่องวัดอุณหภูมิ น้ำตาล

เครื่องวัดอุณหภูมิชนิดนี้สามารถอ่านค่าความร้อนได้สูงมาก คือตั้งแต่ 100 °F ไปจนถึง 400 °F ไว้ใช้กับงานน้ำตาล น้ำเชื่อม หรือเมนูที่อาศัยเทคนิค Deep-Frying หรือการทอดแบบน้ำมันท่วมที่มีอุณหภูมิสูงจัด เช่น การทอดไก่ร้านไก่ทอดขนาดใหญ่ เป็นต้น

4.Freezer Thermometer – เทอร์โมมิเตอร์ ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง

เครื่องวัดอุณหภูมิ ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง

เทอร์โมมิเตอร์ชนิดนี้สามารถอ่านค่าอุณหภูมิติดลบได้ ไว้วัดอุณหภูมิตู้เย็นสำหรับการจัดเก็บรักษาอาหารไม่ให้เน่าเสีย ไม่ให้สูญเสียรสชาติและความสดใหม่และโภชนาการ เช่นหากคุณกำลังเปิดร้านสเต็ก คุณจำเป็นจะต้องควบคุมอุณหภูมิเนื้อสดในการจัดเก็บให้อยู่ที่ -1 ถึง 1 °C ส่วนผักผลไม้เครื่องเคียงเพื่อความสดใหม่ควรจัดเก็บโดยคุมอุณหภูมิไว้ที่ 10 – 15 °C

หรืออย่างสายเบเกอรี่ วิปปิ้งครีมแบบแดรี่จะไม่สามารถแช่ช่องฟรีซ หรือตู้แช่ที่มีอุณหภูมิต่ำมากๆได้ ควรเก็บไว้ในตู้เย็นธรรมดาเท่านั้น และหากนำมาให้เพื่อตีขึ้นยอดได้สวยงาม ก็ควรคุมอุณหภูมิให้ได้ประมาณ 4 °C ก่อนนำมาตี เป็นต้น

5. Instant Read Thermometer – เทอร์โมมิเตอร์สำหรับเครื่องดื่ม

เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องดื่ม

สำหรับใครที่จะเริ่มเข้าสู่วงการเครื่องดื่ม จำเป็นต้องมีเครื่องวัดอุณหภูมิชนิดนี้ในการคุมอุณหภูมิน้ำร้อนหรืออุณหภูมินมสำหรับตีฟองนม เพราะอุณหภูมิมีผลต่อรสชาติของกาแฟสูงมาก หน้าปัดจะมีสเกลบอกอุณหภูมิทั้งแบบองศาเซลเซียสและฟาเรนไฮต์และแบ่งหมวดหมู่สีสำหรับเครื่องดื่มแต่ละประเภท เครื่องวัดอุณหภูมิชนิดนี้จะมีที่หนีบสำหรับแก้วแบบแน่นหนาอีกด้วย

6. Infrared Thermometer – เครื่องวัดอุณหภูมิ แบบอินฟราเรด

เครื่องวัดอุณหภูมิ อินฟราเรด
เครื่องวัดอุณหภูมิ อินฟราเรด
เครื่องวัดอุณหภูมิ อินฟราเรด
เครื่องวัดอุณหภูมิ อินฟราเรด

เครื่องวัดอุณหภูมิชนิดนี้ใช้วัดอุณหภูมิของวัตถุ โดยจะปล่อยรังสีอินฟาเรดออกมา ประกอบด้วยจุดเลเซอร์สีแดงยิงตรงไปที่วัตถุที่ต้องการวัด มีหน้าปัดแสดงตัวเลขอุณหภูมิดิจิตอลทั้งสองแบบทั้งแบบ ทั้งองศาฟาเรนไฮต์และองศาเซลเซียส

เครื่องวัดอุณหภูมิ แบบอินฟราเรด มีความแม่นยำสูงจำเป็นอย่างมากที่จะมีติดครัว หากคุณทำเมนูที่อาศัยเตาประเภทต่างๆ เช่น เตาย่าง เตาบาร์บีคิว เตาสเต็ก หรือพ่อค้าแม่ขายสายคาเฟ่ ที่ต้องใช้ เตาทำแซนวิช เครื่องทำวาฟเฟิล เครื่องทำครอฟเฟิล เครื่องทำพานินี่ ครื่องทำขนมไทยากิ รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัด ที่ใช้เตาโตเกียว เตาเครป เตาเนยกรอบ เป็นต้น เพราะการคุมอุณหภูมิได้แม่นยำ จะส่งผลต่อรสชาติ เนื้อสัมผัส ความกรอบ และสีสันสวยงามของขนมและอาหารได้

ข้อดีของเครื่องวัดอุณหภูมิชนิดนี้

  • มีความแม่นยำสูง สะดวก อ่านค่าง่าย
  • อาศัยรังสีอินฟาเรด ปลอดภัยเพราะไม่ต้องนำไปสัมผัสใกล้กับวัสดุที่แผ่ความร้อนโดยตรง
  • ไม่ต้องกลัวเรื่องของเชื้อโรค เพราะเทอร์โมมิเตอร์ไม่ได้สัมผัสกับเนื้ออาหารโดยตรง
  • สามารถใช้วัดอุณหภูมิได้ทุกวัสดุ ใช้กับเตาและเครื่องทำความร้อนได้ทุกประเภท

คลิกสั่งซื้อ ‘เครื่องวัดอุณหภูมิ อินฟราเรด’ ได้ที่นี่

คงจะไม่ยืนงงในดงเทอร์โมมิเตอร์แล้วใช่ไหมคะ ทีนี้ก็สามารถเลือกเครื่องวัดอุณหภูมิสำหรับงานครัว เพื่อสร้างสรรค์เมนูเด็ดโดนใจได้แบบเซฟมืออาชีพแล้ว

Leave a Reply

Your email address will not be published.